ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำ เครื่องหมาย "อควาทรีท" ขายส่งและขายปลีกทั่วประเทศ Tel. 081-860-5343, 081-829-4698, 085-489-2411 aqua_treatment @ hotmail.com

ข่าวสาร
โวยประปาหมู่บ้าน ทำชาวบ้าน เป็นแผลผุพอง - นิ่ว

          เมื่อวันที่ 19 ม.ค. เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวได้แจ้งว่า มีชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านม่อนนาแหลม ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ประมาณ 100 คน รวมตัวกัน ที่แหล่งผลิตน้ำประปาบริเวณโครงการน้ำบาดาลบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย ดินโคลนถล่ม จึงเดินทางไปตรวจสอบ

          โดยนายบุญมี คาระคำ อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 1/70 บ้านม่อนนางแหลม ต.ฝายหลวง อ.ลับแล กล่าวว่า หลังจากชาวบ้านประสบอุทกภัยน้ำท่วมดินโคลนถล่ม เมื่อเดือน พ.ย.  2549 ภาครัฐได้ดำเนินการจัดหาที่ดินพร้อมจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรให้ชาวบ้านครอบครัวละ 1 ไร่ เพื่อทำกินและอยู่อาศัยในหมู่บ้านม่อนนางแหลม พร้อมให้การส่งเสริมอาชีพกับราษฎรที่ประสบอุทกภัย แต่สิ่งที่ชาวบ้านประสบปัญหาคือ เรื่องน้ำกินน้ำใช้ไม่พอเพียงต่อความต้องการ และเกิดการ ขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะหน้าแล้งตั้งแต่เดือน ธ.ค.เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน น้ำบาดาล ซึ่งเป็นน้ำใต้ดินที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปาใช้ภายในหมู่บ้านเกิดแห้ง ทำให้ไม่มีน้ำประปาใช้ จำเป็นต้องดูดน้ำจากสระน้ำที่กักเก็บเอาไว้มาใช้

          อย่างไรก็ตาม สระน้ำดังกล่าวอยู่หน้าหมู่บ้าน เป็นสระน้ำที่ไม่สะอาดมีหินปูนมาก พื้นที่ก็ติดกับแปลงเพาะปลูกผักและพืชสวนพืชไร่ของชาวบ้านที่มีการใช้สาร เคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งหลังจากนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปา ใช้ทุกวัน ส่งผลให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคผิวหนังและเป็นนิ่วในกระเพาะอาหาร ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานราชการใดเข้ามาให้การดูแลแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน

          "น้ำที่ใช้ มีสี เป็นขุ่นโคลนเมื่อตกตระกอนจะจับตัวกันเป็นหินปูน โดยเฉพาะขันน้ำ ถังน้ำ และแทงค์ ภายในห้องน้ำ และห้องครัวจะเกิดคราบเกาะติดแน่นล้างไม่ออก ต้องใช้แปรงลวดขัดอย่างเดียวจึงจะออก เมื่อนำน้ำประปามาต้มดื่มกินทำให้เกิดเป็นนิ่วในร่างกาย สิ่งที่สำคัญชาวบ้านได้นำน้ำประปาดังกล่าวมาอาบเพื่อชำระล้างร่างกายกลับ ทำให้เกิดผื่นคันและแผลผุผองขึ้นตามตัว" นายบุญมี กล่าว

          ทั้งนี้ ชาวบ้านหลายคนได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อ.ลับแล เพื่อตรวจสุขภาพ ก็พบก้อนนิ่วในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากการสะสมของหินปูน ส่วนแผลผุผองที่พบตามร่างกายแพทย์วินิจฉัยว่า เกิดจากการน้ำประปาที่สกปรกเนื่องจากมีสารเคมีตกค้างอยู่ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำประปาให้มีความสะอาดและมี ความเพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 
น้ำดื่มหยอดเหรียญ … ความสะดวกสบายที่แฝงอันตรายจริงหรือ

น้ำดื่มหยอดเหรียญ … ความสะดวกสบายที่แฝงอันตรายจริงหรือ ?    

           ปัจจุบันนี้ คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับผู้บริโภคที่รักความสะดวกสบาย เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ มักจะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน เช่น หอพักนักศึกษา หมู่บ้านจัดสรร หรือตามแหล่งต่าง ๆ ที่บริษัทผู้ติดตั้งเห็นว่าน้ำดื่มบรรจุขวดจะเข้าไปไม่ถึง แม้ว่าผู้บริโภคจะต้องนำภาชนะมาบรรจุน้ำเอง แต่ก็ได้รับความนิยมเพราะมีราคาถูกเพียงลิตรละ 1-2 บาทเท่านั้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ส่งผลให้ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดค่อนข้างซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดบางราย หันมาประยุกต์ธุรกิจจำหน่ายน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ แต่ก็มีข่าวออกมาว่าน้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis สะอาดเกินไป เพราะไม่เพียงกรองเชื้อโรคและจุลินทรีย์แต่ยังกรองแร่ธาตุสารอาหารต่าง ๆ ที่ปนอยู่ในน้ำออกไปด้วย ดื่มเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ขาดแร่ธาตุสำคัญ ร่างกายจะอ่อนแอ เจ็บปวด เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย แต่สำหรับเรื่องนี้มีนักวิจัยหลายท่าน ได้ทำการวิจัยไว้ จึงขอนำมาสรุปให้เป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องการผลิตน้ำในประเทศไทย ดังนี้

ระบบการผลิตน้ำ ที่ในประเทศไทย มี 3 แบบ คือ 

           แบบแรกเป็นขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มแบบยอดนิยม เริ่มตั้งแต่การสูบน้ำดิบ (น้ำประปา/น้ำบาดาล/น้ำบ่อ) กรองด้วยคาร์บอนหรือถ่านนั่นเอง เพื่อกรองสี กรองกลิ่น ต่อด้วยใช้เรซิน กรองแคลเซียม กับแมกนีเซียมออกไป จากนั้นกรองหยาบด้วยฟิลเตอร์ขดเชือก เพื่อกรองเศษผงตะกอนขนาด 10 ไมครอนขึ้นไป เสร็จแล้วกรองละเอียดด้วยเซรามิก กรองจุลินทรีย์ตัวจิ๋วขนาด 0.3-1 ไมครอน อย่างสาหร่าย ตะไคร่น้ำ แล้วตามด้วยการฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (อัลตราไวโอเลต) หรือระบบโอโซน นี่เป็นขั้นตอนการกรองน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานทั่วไป สะอาด เหมาะแก่การบริโภค 
            แบบที่สองเป็นการกรองที่เรียกว่า Reverse Osmosis หรือ RO. (น้ำดื่มหยอดเหรียญนิยมใช้การกรองแบบนี้)จะให้ความสะอาดมากกว่า เป็นการกรองโดยใช้แรงดันสูงฉีดน้ำให้ผ่านเยื่อบาง ๆ ที่เรียกว่า “Membrane” เยื่อนี้สามารถกรองน้ำสะอาดได้มากกว่า เพราะกรองได้เล็กละเอียดถึงขนาดกรองโมเลกุล กรองอะตอมของน้ำได้เลย เชื้อโรคจุลินทรีย์ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีทางหลุดผ่านเยื่อกรองนี้ได้ ถึงระบบ RO จะกรองได้สะอาดมาก แต่น้ำที่ได้จากการกรองระบบนี้ก็มีข้อด้อย คือ รสชาติของน้ำไม่อร่อย ไม่เหมือนการกรองแบบธรรมดา 
             ส่วนการกรองอีกระบบ ที่กรองได้ดีกว่าระบบ RO นั่นก็คือ การกรองแบบที่เรียกว่า Deionized water ระบบนี้ไม่เพียงกรองสิ่งสกปรก แร่ธาตุสารอาหารที่อยู่ในน้ำเท่านั้น ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในน้ำยังถูกกรองออกไปด้วย ในน้ำจะมีแต่น้ำอย่างเดียว ไม่มีอะไรเจือปนเลย น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่ได้จากการกรองแบบนี้ ทำขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ผสมยา ใช้ในห้องทดลอง รวมทั้งใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์ ที่เราหลงผิดเรียกกันว่าน้ำกลั่น จริง ๆ แล้วไม่ได้กลั่น แต่ใช้วิธีกรองแบบ Deionized water นี่ต่างหาก น้ำสะอาดบริสุทธิ์ตัวนี้แหละ ที่ไม่ควรดื่ม ส่วนน้ำอย่างอื่น ๆ กรองแบบทั่วไป กรองแบบ RO ก็ดื่มได้

ปัจจัยเสี่ยงจากน้ำดื่มหยอดเหรียญ 

             ก็อย่างที่บอกไปแล้วในข้างต้นว่าน้ำดื่ม RO. สามารถดื่มได้ ไม่ใช่น้ำที่สะอาดเกินไป ที่เมื่อดื่มแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะดูดเอาแร่ธาตุในร่างกายเราออกไป อย่างที่ข่าวได้แพร่กระจายออกไป แต่รู้ไหมคะว่าอันตรายที่ แท้จริงของน้ำดื่มหยอดเหรียญอยู่ที่ไหน เราลองมาวิเคราะห์กันทีละจุดกันดีกว่า 
             จุดแรกก็คือน้ำที่ใช้ในการผลิต หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าน้ำดิบ (เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ) โดยส่วนใหญ่น้ำดื่มหยอดเหรียญจะใช้น้ำประปาเป็นน้ำดิบ ซึ่งน้ำประปาถือเป็นอันตรายอย่างหนึ่งของการผลิตน้ำระบบ RO เพราะคลอรีนในน้ำประปาจะไปกัดเยื่อกรอง “Membrane” ทำให้เยื่อกรองฉีกขาด และไม่สามารถกรองสิ่งสกปรกหรือเชื้อจุลินทรีย์ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นน้ำที่ได้ออกมาจึงเป็นน้ำประปาเราดี ๆ นี่เอง ดังนั้นการใช้น้ำประปาเป็นน้ำดิบ ในการผลิตน้ำดื่มระบบ RO จะให้ได้น้ำที่สะอาดจริงๆ ต้องมีการผ่านคาร์บอนเพื่อดึงเอาคลอรีนในน้ำออกไปก่อนการผ่านระบบ RO 
             จุดที่สองคือการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพราะระบบการผลิตน้ำแบบ RO เป็นระบบที่กรองผ่านเยื่อกรองที่เรียกว่า Membrane และเมื่อผ่านการกรองมาก ๆ ก็จะมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคสะสมที่เยื่อกรองมาก ทำให้เยื่อกรองอุดตันต้องถอดเอาเยื่อกรองออกมาล้างทำความสะอาด เอาสิ่งอุดตันเหล่านั้นออก แต่ถ้าปล่อยให้เยื่อกรองอุดตันมาก ๆ แล้วไม่ล้างทำความสะอาด ก็จะทำให้เยื่อกรองแตกและไม่สามารถกรองสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในน้ำได้ แต่ถ้าบริษัทผู้ผลิตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป 
             สุดท้ายก็คือภาชนะบรรจุที่ผู้บริโภคนำมาใส่น้ำ ได้ผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดที่ดีพอหรือยัง คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าภาชนะเหล่านั้นของคุณสะอาดพอ ที่จะบรรจุน้ำดื่มได้ เพราะคงมีคนจำนวนน้อยที่จะเอาน้ำเหล่านี่ไปต้มก่อนดื่มเป็นแน่ ดังนั้นภาชนะบรรจุจึงต้องสะอาดและไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็น ปะปนอยู่ คุณรู้ไหมว่าในโรงงานน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานมีการล้างภาชนะบรรจุอย่างไร ?

วิธีการล้างภาชนะบรรจุ 

             ภาชนะบรรจุที่จะใช้ใส่น้ำดื่มควรเป็นภาชนะที่สะอาดและไม่เคยใช้บรรจุสิ่งอื่นมาก่อน ถ้าเป็นภาชนะบรรจุใหม่ที่ไม่เคยใช้บรรจุสิ่งอื่นใดนอกจากน้ำดื่ม เราควรล้างด้วยน้ำที่เราไปกดจากตู้หยอดเหรียญนั่นแหละ ยอมเสียน้ำไปหน่อยเพื่อความสะอาดและปลอดภัยของเราเอง โดยใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย แล้วเขย่าให้ทั่วภาชนะบรรจุ เททิ้ง ทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง แล้วจึงเติมน้ำต่อ นี่คือการล้างที่ได้ผลวิธีหนึ่ง แต่ถ้ามีเวลามากพอ ก็สามารถล้างภาชนะบรรจุด้วยน้ำยาล้างจานก็ได้ โดยใช้แปรงขนอ่อนขัดล้าง (ไม่ควรใช้แปรงแข็งเพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วนและเป็นแหล่งสะสมเชื้อจุลินทรีย์) จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด และก่อนเติมน้ำก็ล้างด้วยน้ำดื่มอีกครั้ง แค่นี้ก็สะอาดเพียงพอแล้วล่ะค่ะ 
             ในกรณีที่ภาชนะบรรจุสกปรกมาก ๆ เช่นมีตะไคร่น้ำ ก็สามารถล้างออกได้ด้วยการใช้คลอรีนเทลงไปแล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นจึงล้างคลอรีนออกด้วยน้ำสะอาด ถ้ายังมีกลิ่นคลอรีนหลงเหลืออยู่ ก็ใช้ถ่าน(ใส่ในถุงผ้า) หย่อนลงไปในถังทิ้งไว้ข้ามคืน กลิ่นก็จะหายไปได้นะคะ 
            ก็ได้ทราบกันแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงของน้ำดื่มหยอดเหรียญมีอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสี่ยงเหมือนกันทุกตู้ เราสามารถเลือกได้ เพราะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีการดูแลบำรุงรักษาดี ๆ ก็มี เราก็สามารถสังเกตได้จากบันทึกหรือสติกเกอร์ที่ติดไว้ที่ตู้ (คล้าย ๆ กับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีการติดสติกเกอร์หลังการทำความสะอาดเครื่อง) โดยทางบริษัทผู้ติดตั้งเครื่องน้ำดื่มหยอดเหรียญจะเป็นผู้ล้างทำความสะอาดเครื่อง แล้วติดสติกเกอร์เพื่อบอกผู้บริโภคว่ามีการล้างทำความสะอาดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ และจะล้างอีกครั้งเมื่อไหร่ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถบอกได้ถึงความสม่ำเสมอและเอาใจใส่ในการดูแลและบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมากน้อยเพียงใด 
             นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนได้ดื่มน้ำสะอาดในราคาถูกเพียงลิตรละ 1-2 บาทท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้คิดโครงการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อชุมชน โดยมอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,000 ตู้เพื่อกระจายไปบริเวณ กทม.และปริมณฑล จากนั้นให้ขยายอีก 4,000 ตู้ไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ 
            ความสะดวกสบายในปัจจุบันก็ไม่ได้มีแต่ส่วนดี แต่ถ้าเราเลือกได้อย่างถูกต้อง เราก็จะใช้ความสะดวกสบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์กับตัวเราได้มาก และในเมื่อได้รู้อย่างนี้แล้ว คงจะช่วยให้คุณ ๆ ผู้บริโภคทั้งหลาย ได้ข้อมูลเพื่อช่วยในการเลือกซื้อเลือกดื่มน้ำที่สะอาดเพื่อสุขภาพที่ดีได้บ้างนะคะ

เอกสารอ้างอิง

สกู๊ปหน้า 1 . น้ำตู้..เอื้ออาทร ดื่มแล้ว..อันตราย หรือ? . หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ . 20 ตุลาคม 2548
ซูมซอกแซก . น้ำดื่มหยอดเหรียญ . หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ . เข้าถึงได้จาก : http://thairath.co.th .2548
มองเศรษฐกิจ . น้ำดื่มหยอดเหรียญ : ชิงชัยในตลาดน้ำดื่มค่า 4,000 ล้าน
5 กุมภาพันธ์ 2548 . เข้าถึงได้จาก : http://krc.co.th . 2548
แนวทางการป้องกันการปนเปื้อน จุลินทรีย์ในการผลิตน้ำบริโภคบรรจุ ขวด . 2543. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ความรู้เรื่อง สารกรองและการบำรุงรักษาที่ใช้ใน การผลิตน้ำบริโภค . 2547 . สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา